7 พฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกันระหว่าง “ผู้นำ”​กับ “ผู้จัดการ”

  • 23 พ.ค. 2566
  • 9174
หางาน,สมัครงาน,งาน,7 พฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกันระหว่าง “ผู้นำ”​กับ “ผู้จัดการ”

หนึ่งในสิ่งที่ผมมักจะเห็นการแชร์ต่อกันมาบ่อยๆ คือความแตกต่างระหว่างการเป็น Leader กับการเป็น Boss ซึ่งให้รายละเอียดความแตกต่างระหว่างมุมมองและทัศนคติที่น่าสนใจอยู่พอสมควร โดยอันที่จริงแล้ว ความแตกต่างนี้ไม่ใช่เรื่องของ Boss เท่านั้น แต่รวมไปถึง Manager ที่เราคุ้นเคยกันดีว่า “ผู้จัดการ” ด้วยจะว่าไปแล้ว ประเด็นเรื่องตำแหน่ง “ผู้จัดการ” นี้ผมก็มักจะยกมาพูดบ่อยๆเวลาไปบรรยายเรื่องการทำงานเหมือนกัน เพราะสำหรับหลายๆคนแล้ว การขึ้นมาดำรงตำแหน่งผุ้จัดการหรือผู้อำนวยการ ก็ถือเป็นความน่าภาคภูมิใจอยู่ไม่น้อยมันเลยไม่แปลกที่หลายๆคนจะล้วนอยากพยายามเป็นผู้จัดการกันเสียให้ได้ในวันหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมมักชวนให้คนฟังคิดตามกันคือสิ่งที่องค์กรต้องการนั้นไม่ใช่ผู้จัดการ แต่คือผู้นำซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งผู้จัดการเลยก็ได้ และที่เรามักพบกันคือผู้จัดการหลายๆคนไม่ได้เป็นผู้นำเลยแม้แต่น้อย เรื่องน่าคิดระหว่างความเป็นผู้นำกับตัวผู้จัดการนี้เองที่ทำให้บริษัทจำนวนมากหันมาทบทบวนว่าบุคลากรที่ตัวเองนี้เป็นประเภทไหนกันแน่ และผมก็ไปเจอ บล็อกน่าสนใจจาก Inc ว่าด้วยพฤติกรรมความแตกต่างระหว่างคนที่เป็นผู้นำกับคนที่เป็นผู้จัดการ ซึ่งก็เล่าไว้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังเป็นผู้จัดการหรืออยากเป็นได้ลองทบทวนดูว่าตัวเราควรเป็นแบบไหนกันแน่นะครับ

1. ผู้นำจะเชื่อมงานที่ทำในแต่ละวันกับเป้าหมายใหญ่ของพวกเขา ในขณะที่ผู้จัดการจะมองแค่งานระยะสั้นเท่านั้น

อย่างที่บอกไป คือผู้จัดการคือคนที่คอยจัดการให้งานที่ตัวเองหรือทีมรับผิดชอบนั้นให้เสร็จเรียบร้อย คนที่เป็นผู้จัดการจึงมักง่วนอยู่กับการพยายามเคลียร์งานให้เสร็จโดยเร็วเพื่อให้บรรลุตามหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งนั่นผิดกับผู้นำที่จะมองงานต่างๆ เป็นจิ๊กซอว์ประกอบในแผนการสร้างภาพขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายหลักของพวกเขา และต่อให้จะเป็นงานประเภท Routine ยังไงก็ตาม แต่ทั้งหมดนั้นก็ล้วนร้อยต่อเป็นสิ่งที่พวกเขาวางไว้เพื่ออนาคตข้างหน้า

2. ผู้นำมองคนเป็นคน ในขณะที่ผู้จัดการมองพนักงานตามลำดับขั้นในองค์กร

สิ่งที่มักพูดกันเสมอๆคือผู้จัดการนั้นจะให้ความสำคัญกับตำแหน่งของแต่ละคน ประเภทว่าคนไหนตำแหน่งสูงตำแหน่งต่ำ และปฏิบัติกับแต่ละคนอิงตามตำแหน่งของพวกเขาประเภทที่พนักงานระดับล่างก็จะถูกกระทำแบบหนึ่ง แต่พนักงานระดับบนก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนั่นจะต่างจากผู้นำที่จะมองแต่ละคนในมุมมองที่พยายามค้นหาจุดแข็งและจุดอ่อนเพื่อสามารถใช้ความสามารถได้อย่างสูงสุด เราจึงเห็นผู้นำที่ดีไม่ได้ใส่ใจเรื่องตำแหน่งหรือลำดับขั้นในแผนก แต่สนใจเรื่องความสามารถ ทัศนคติ และมุมมองเพื่อสร้างคุณค่าของแต่ละคนได้มากที่สุดต่างหาก

3. ผู้นำอยากได้ความเคารพ ในขณะที่ผู้จัดการอยากเป็นที่รัก

เรื่องนี้อาจจะฟังดูแปลกๆแต่ถือว่าน่าคิดทีเดียว เพราะผู้นำหลายๆคนอาจจะไม่ใช่คนที่ทุกคน “ชอบ” หรือ “ปลื้ม” แต่จะเป็นคนที่คนส่วนใหญ่ให้การเคารพนับถือสำหรับเรื่องความสามารถในการนำพาทีมไปสู่ความสำเร็จได้ แต่สำหรับผู้จัดการบางคนนั้น จะเน้นการเป็นที่รักของคนในทีมเป็นสำคัญ ประเภทที่บางทีก็สปอยลูกน้อง ปกป้องจนเกินเหตุ ฯลฯ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำเก่งๆจะทำกัน เพราะพวกเขาจะมองว่าเป้าหมายใหญ่เป็นตัวตั้งซึ่งหลายๆครั้งก็ต้องมีการเสียสละบางอย่าง หรือต้องทำบางอย่างที่ไม่ได้ประสงค์นักเพื่อให้งานสำเร็จ เป็นต้น

4. ผู้นำจะรู้สึกตื่นเต้นเวลาคนในทีมสร้างอะไรที่ยอดเยี่ยม แต่ผู้จัดการจะรู้สึกหวาดวิตก

การที่คนในทีมมีผลงานเกินหน้าเกินตานั้นเป็นสิ่งที่ผู้จัดการหลายคนหวาดกลัว ทั้งนี้เพราะพวกเขายึดติดกับโครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้นที่เขาอยู่ข้างบน การที่คนด้านล่างเก่งและมีความสามารถย่อมหมายถึงการสั่นคลอนของตัวเองที่อาจจะถูกลดบทบาทได้ทุกเมื่อ แต่สำหรับคนที่เป็นผู้นำนั้นจะไม่มีความคิดแบบนี้อยู่ในหัวเลย แต่กลับจะยิ่งรู้สึกดีเมื่อพบว่าคนในทีมของตัวเองมีความสามารถที่ยอดเยี่ยม อีกทั้งจะยิ่งสนับสนุนให้ดีกว่าเดิมเสียอีกเพื่อที่คนเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้นำคนต่อๆไปในองค์กร

5. ผู้นำจะโปร่งใสกับคนในทีม ในขณะที่ผู้จัดการจะปกปิดข้อมูลไว้

สำหรับคนที่เป็นผู้นำนั้นมักจะมีความคิดในทางที่ต้องการให้คนในทีมได้รับทราบสถานการณ์อย่างเท่าเทียม เพื่อที่จะให้ทุกๆคนได้สิทธิ์และได้ออกความเห็นบนพื้นฐานเดียวกัน จึงไม่แปลกที่คนเป็นผู้นำมักจะเล่าข้อมูลต่างๆให้กับคนในทีมอยู่เสมอๆ ผิดกับผู้จัดการหลายคนซึ่งกลัวว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คนในทีมรู้มากเกินไป ข้อมูลต่างๆจึงกลายเป็นเสมือนไพ่ลับที่ไม่สามารถบอกคนอื่นได้ซึ่งท้ายที่สุดก็กลายเป็นว่าเสียโอกาสของทีมไปโดยใช่เหตุ

6. ผู้นำรับผิดชอบกับความผิดพลาด ในขณะที่ผู้จัดการจะโทษทีม

เรื่องนี้คนพูดกันเสมอๆว่าผู้นำที่ดีมักจะออกตัวยืดอกรับผิดชอบเวลาเกิดความผิดพลาดใดๆ พร้อมทั้งเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาขอโทษหรือพยายามพลักดันในการแก้ไขให้ดีขึ้น ในขณะที่ผู้จัดการ (ที่ไม่ดี) มักจะโยนความผิดให้กับคนอื่นๆบ้างก็บอกว่าคนที่รับผิดชอบโปรเจคคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น ทั้งนี้เพราะการยอมรับว่าตัวเองผิดเป็นเรื่องที่ผู้จัดการเหล่านี้รับไม่ได้เนื่องจากจะมองว่าทำให้ตัวเองอยู่ในที่นั่งลำบากหรือสูญเสียอำนาจไปนั่นเอง

7. ผู้นำจะสนใจกับผลลัพธ์ของงานในขณะที่ผู้จัดการสนใจเรื่องกระบวนการ

อย่างที่บอกไป คือผู้นำนั้นจะมองเห็นเป้าหมายของทีมและพยายามพลักดันให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างงานซึ่งนำไปสู่เป้าหมายนั้น ฉะนั้นแล้ว พวกเขาจะมีภาพที่ชัดเจนมากว่าต้องการอะไร และผลลัพธ์ของงานก็ควรจะได้เป็นตามนั้น (แน่นอนว่านั่นทำให้พวกเขาสามารถออกแบบกระบวนการต่างๆ ที่จะให้ได้งานตามที่ต้องการด้วยเช่นกัน) แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้จัดการมักจะสนใจเรื่องกระบวนการเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะการจัดการกระบวนการคือสิ่งที่นำมาสู่ตำแหน่งผู้จัดการนั่นแหละ มันเลยไม่แปลกที่พวกเขาจะพยายามสนใจเรื่องอำนาจการตัดสินใจ การพยายามควบคุมและสร้างกระบวนการต่างๆ ตามที่เขาต้องการเป็นสำคัญ

ในบรรดา 7 ข้อนี้ อาจจะฟังดูเข้าท่า แต่บางข้อก็ดูสุดโต่งบ้าง บางอย่างอาจจะฟังแล้วแบบ เอ๊ะ ผู้จัดการมันไม่ขนาดนั้นหรือเปล่า เอาเป็นว่ามันคือแง่คิดที่ชวนให้คุณๆ ลองพิจารณาดูว่าการเป็นผู้นำที่ดีนั้นเขามองอะไรเป็นสำคัญแล้วกันนะครับ ผู้จัดการหลายๆคนอาจจะไม่ได้เป็นถึงขั้นผู้นำแต่ก็อาจจะไม่ได้แย่ไปเสียทีเดียว อย่างน้อยๆ ถ้าคุณรู้ว่าการเป็นผู้นำคืออะไรแล้ว อนาคตคุณอาจจะพัฒนาตัวเองไปถึงจุดนั้นก็ได้ล่ะครับ

Credit : http://www.nuttaputch.com/7-behaviors-leaders-do-while-manager-do-not/

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top